รมว.ศธ. ห่วงสถานศึกษา ประชาชนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมมอบอาชีวะนำทีม Fix it จิตอาสาช่วยชุมชน

รมว.ศธ. ห่วงสถานศึกษา ประชาชนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมมอบอาชีวะนำทีม Fix it จิตอาสาช่วยชุมชน

​นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แสดงความเป็นห่วงสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัด จากผลของพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” ซึ่งทำให้เกิดอุทกภัยใน 26 จังหวัด รวม 84 อำเภอ 219 ตำบล 908 หมู่บ้าน 5 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 18,753 ครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 14 จังหวัด ยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ 12 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร ชัยภูมิ นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา สุโขทัย ชัยนาท นครสวรรค์ สิงห์บุรี ขอนแก่น ลำปาง ลำพูน และอุบลราชธานี นั้น


​นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า ตนได้มอบหมายให้ต้นสังกัดของสถานศึกษาทั่วประเทศวางแผนป้องกันภัยจากน้ำท่วม เฝ้าระวัง เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และหากเกิดอุทกภัยขึ้นแล้วให้สถานศึกษาได้รายงานความเสียหายมายังต้นสังกัด เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหา ซ่อมแซมอาคารสถานที่ อุปกรณ์ต่างๆ และช่วยเหลือสถานศึกษาต่อไป และหลังจากน้ำลดแล้วตนจะมอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ดำเนินโครงการศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน หรือ Fix it Center ลงพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย เพื่อช่วยเหลือสถานศึกษา และประชาชนผู้ประสบอุทกภัยหลังภาวะน้ำลด ทั้งนี้ ที่ผ่านมาศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน ซึ่งนักเรียน นักศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ในสาขาวิชาต่างๆ จากสถานศึกษาในสังกัด สอศ.ได้นำวิชาความรู้ความสามารถทางวิชาชีพออกให้บริการและประชาชน ชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการดำเนินการต่าง ๆ สถานศึกษาจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของนักเรียน นักศึกษา ครู เป็นสำคัญและต้องคำนึงถึงความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ยังมีการแพร่ระบาดอยู่อย่างต่อเนื่องในขณะนี้ด้วย และทั้งนี้ตนจะลงพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือสถานศึกษาที่ประสบอุทกภัยต่อไปด้วย


​ด้านนายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีความเป็นห่วงต่อสถานศึกษา นักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากอุทกภัย นั้น โดยขณะนี้ สอศ. ได้ขอให้สถานศึกษาทุกแห่งที่ประสบภัย ได้สำรวจความเสียหายและรายงานแจ้งให้ สอศ. พร้อมทั้งให้สถานศึกษาในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงที่ไม่ได้รับผลกระทบ ได้จัดเตรียมความพร้อมศูนย์ Fix it Center จิตอาสา ได้วางแผนเตรียมให้ความช่วยเหลือไว้ 2 กรอบ ได้แก่ กรอบที่ 1ในสถานการณ์เผชิญเหตุอุทกภัย โดยศูนย์ Fix it Center จิตอาสา จะให้บริการด้านการขนย้ายสิ่งของ การตัดกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ที่น้ำยังไม่ท่วมถึง และการจัดเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น อาหารกล่องน้ำดื่มเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน โดยในกรอบที่ 2 ศูนย์ Fix it Center จิตอาสาจะดำเนินการให้บริการ ซ่อมเครื่องใช้อุปกรณ์สิ่งของภายในบ้าน ซ่อมรถจักรยานยนต์ รถยนต์ เครื่องจักรกล เครื่องมือเครื่องใช้ อุปกรณ์ทางการเกษตร ฯลฯ

 

แหล่งที่มา https://www.vec.go.th/ข่าว/ข่าวประชาสัมพันธ์/รายละเอียดข่าวประชาสัมพันธ์/tabid/6276/ArticleId/35258/language/th-TH/35258.aspx

สอศ. รับปรับหลักสูตรอาชีวะให้ทันการเปลี่ยนแปลงกับโลกอาชีพ​

สอศ. รับปรับหลักสูตรอาชีวะให้ทันการเปลี่ยนแปลงกับโลกอาชีพ

ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า จากนโยบาย นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ทบทวนปรับปรุงหลักสูตร และการจัดการเรียนการสอนในระดับอาชีวศึกษาให้มีความทันสมัย รับการเปลี่ยนแปลงกับโลกอาชีพ ซึ่งตั้งเป้าเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2565 โดยขณะนี้ สอศ. ได้วางแนวทางการพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้อาชีวศึกษาแนวใหม่ เพื่อให้สอดคล้องและสามารถดำเนินการได้ในช่วงระยะเวลาที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ยังมีการแพร่ระบาด

 

เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า สำหรับการแนวทางการปรับและพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้อาชีวศึกษาแนวใหม่ ซึ่งจะนำไปใช้ทั้งในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และใช้ในการจัดการศึกษา ทั้งในระบบ นอกระบบ และระบบทวิภาคี สอศ.จะดำเนินการในส่วนของการปรับหลักสูตร ให้มีความยืดหยุ่น และเชื่อมโยงการสำเร็จการศึกษา และการมีงานทำ โดยการปรับลดรายวิชาสามัญ เพิ่มรายวิชาชีพที่สร้างสมรรถนะให้แก่ผู้เรียน และบูรณาการวิชาสามัญและวิชาชีพในชุดวิชาเดียวกัน ที่เรียกว่าการจัดหลักสูตรแบบโมดูล (Modular System) เพื่อส่งเสริมผู้เรียนในด้านสมรรถนะของงานอาชีพ และจัดการเรียนรู้ แบบสะสมหน่วยการเรียนรู้ หรือเรียกว่าธนาคารหน่วยกิต หรือเครดิตแบงก์ (Credit Bank) ที่จะเป็นการเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ โดยกำหนดรูปแบบการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นตามความต้องการของผู้เรียน สามารถสะสมผลการเรียนรู้ในแต่ละวิชา แต่ละทักษะ องค์ความรู้ที่ต้องการ และนำมาสะสมไว้เพื่อการศึกษาต่อในระดับต่าง ๆ

 

 

พร้อมทั้งส่งเสริมจัดการเรียนรู้แบบต่อเนื่อง Block course และพัฒนาหลักสูตรเพื่อรองรับให้กับกลุ่มผู้ที่สำเร็จการศึกษาและยังไม่มีงานทำ กลุ่มผู้เรียนที่ตกหล่นจากระบบการศึกษา และคนวัยทำงาน หรือผู้ที่ต้องการ Up-Skill, Re-Skill รวมถึงการเรียนรู้ในห้องเรียน และการเรียนรู้แบบออนไลน์ เพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ ให้สอดคล้องกับสถานะการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว มีความซับซ้อน โดยการเพิ่มทักษะใหม่ที่จำเป็น และการทบทวนทักษะความชำนาญ ให้มีมิติในห่วงโซ่คุณค่าของสาขาอาชีพ ทั้งด้านตำแหน่งงาน งานวิกฤติ สมรรถนะกำลังคนและความสามารถทางด้านเทคโนโลยี ฯลฯ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

 

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้เร่งดำเนินการจัดทำร่างและแนวทางการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรเพื่อนำเสนอให้กับคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผ่านคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 4 คณะได้แก่คณะอนุกรรมการฯ ด้านหลักสูตรอาชีวศึกษาและมาตรฐานคุณภาพการจัดการอาชีวศึกษา ด้านการกำหนดนโยบายเป้าหมายการผลิต และพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา และกฎหมาย ด้านความร่วมมือในการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา และด้านการติดตามและประเมินผลการอาชีวศึกษาและการมีงานทำ รวมถึงคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (อ.กรอ อศ.) พร้อมทั้งการดำเนินการ ในส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2551 รวมทั้งกฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศหลักเกณฑ์ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการอาชีวศึกษา เพื่อให้สามารถดำเนินการประกาศใช้หลักสูตร และรูปแบบการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาแนวใหม่ในปีการศึกษา 2565 ต่อไป

แหล่งที่มา https://www.vec.go.th/ข่าว/ข่าวประชาสัมพันธ์/รายละเอียดข่าวประชาสัมพันธ์/tabid/6276/ArticleId/35304/language/th-TH/35304.aspx

“ตรีนุช”เร่งเครื่องยกระดับอาชีวะเอกชน

“ตรีนุช”เร่งเครื่องยกระดับอาชีวะเอกชน

“สุเทพ” ขานรับนโยบาย “ตรีนุช” เดินหน้ายกระดับการอาชีวศึกษาเอกชน เตรียมลงพื้นที่เฟ้นจังหวัดต้นแบบ พัฒนาครบวงจรทั้งจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี-อบรมพัฒนาครูอาชีวะเอกชน-นำนักเรียนนักศึกษาร่วม Fix it Center

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า ตามที่ตนมีนโยบายการศึกษาเพื่ออาขีพ และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อให้ผู้จบการศึกษา ระดับปริญญาและอาชีวศึกษามีอาชีพและรายได้ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพและคุณภาพชีวิตที่ดี มีส่วนช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกได้ ซึ่งเรื่องหนึ่งในการเดินหน้าสู่เป้าหมายดังกล่าว คือ การยกระดับคุณภาพสถานศึกษาอาชีวศึกษา ทั้งของรัฐและเอกชน ซึ่งจากการที่ตนได้ลงพื้นที่พบกับผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชน ก็ได้รับทราบถึงเรื่องที่เป็นความต้องการของอาชีวศึกษาเอกชน ในการที่จะเร่งปรับปรุงพัฒนาการอาชีวศึกษาเอกชนในด้านต่างๆ โดยมี 3 เรื่องใหญ่ คือ 1.การส่งเสริมสนับสนุนอาชีวศึกษาเอกชนให้สามารถจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทั่วถึงครอบคลุมทุกวิทยาลัย 2. การพัฒนาครูอาชีวศึกษาเอกชน ที่จะต้องมีการสนับสนุนทั้งด้านการฝึกอบรมและการนิเทศ และ 3.การจัดให้นักศึกษาอาชีวศึกษาเอกชนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติในสถานการณ์จริง ในพื้นที่จริง โดยการร่วมกิจกรรมศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน หรือ Fix it Center และการฝึกอบรมอาชีพให้แก่ประชาชน ซึ่งหลังจากที่ตนได้รับทราบความต้องการของอาชีวศึกษาเอกชนแล้ว ก็ได้มอบหมายนให้ ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เร่งวางแนวทางยกระดับคุณภาพอาชีวศึกษาเอกชนและดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

ด้าน ดร.สุเทพ กล่าวว่า หลังจากรับนโยบายของ รมว.ศธ.ตนได้มอบหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านการอาชีวศึกษาเอกชน การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ด้านงานวิชากการ การทิเทศ และด้านความร่วมมือได้หารือร่วมกัน เช่น เรื่องการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ที่เป็นการจัดการศึกษาวิชาชีพที่เกิดจากข้อตกลงระหว่างสถานศึกษาอาชีวศึกษา กับ สถานประกอบการ รัฐวิสาหกิจ หรือ หน่วยงานของรัฐ ในเรื่องการจัดหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การจัดการฝึกอาชีพ การวัดและประเมินผล โดยผู้เรียนใช้เวลาส่วนหนึ่งในสถานศึกษาอาชีวศึกษา และเรียนภาคปฏิบัติในสถานประกอบการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเดิมอาชีวศึกษาเอกชนอาจจะติดปัญหาในหลักเกณฑ์บางประการก็จะปรับปรุงให้คล่องตัวมากขึ้น นอกจากนี้จะเลือกบางจังหวัดเป็นพื้นที่ต้นแบบ ที่จะเร่งดำเนินการทุกเรื่องที่เป็นความต้องการของอาชีวศึกษาเอกชนอย่างครบวงจร ทั้งเรื่องอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี การพัฒนาครู การพัฒนากิจกรรมองค์การวิชาชีพในวิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชน การวางแผนการรับนักศึกษาร่วมกัน การแชร์ทรัพยากรเพื่อการเรียนการสอนร่วมกันระหว่างวิทยาลัยอาชีวะของรัฐกับเอกชน และและนำนักศึกษาปฏิบัติงานในพื้นที่จริง โดยภายในเดือนตุลาคมนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะส่งคณะทำงานจากส่วนกลางลงพื้นที่เป้าหมาย เพื่อวางแผนในการดำเนินการ โดยกำหนดให้ได้แนวทางและลงมือปฏิบัติตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 และให้เห็นผลภายในเดือนเมษายน 2565

แหล่งที่มา https://www.vec.go.th/ข่าว/ข่าวประชาสัมพันธ์/รายละเอียดข่าวประชาสัมพันธ์/tabid/6276/ArticleId/37276/language/th-TH/.aspx

ดีเดย์ 11.11 คุณหญิงกัลยา เปิดงานโครงการ MCAT FARM และ K FARM Koffee พัฒนาทักษะอาชีพกาแฟครบวงจรให้กับนักศึกษาอาชีวะเกษตรมหาสารคาม พร้อมเปิดเช็คอินLandmarkแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรแห่งใหม่

ดีเดย์ 11.11 คุณหญิงกัลยา เปิดงานโครงการ MCAT FARM และ K FARM Koffee พัฒนาทักษะอาชีพกาแฟครบวงจรให้กับนักศึกษาอาชีวะเกษตรมหาสารคาม พร้อมเปิดเช็คอินLandmarkแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรแห่งใหม่

วันนี้ (11 .11. 2564 ) ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงานและเยี่ยมชมโครงการ MCAT FARM และ K FARM Koffee พร้อมทำการปล่อยปลานิล ปลูกต้นกาแฟ เยี่ยมชมบ่อปิดธนาคารน้ำใต้ดิน นิทรรศการมหกรรมอาชีวะเกษตร และเปิดอาคารศูนย์การเรียนรู้ Excellent Centerโดยมีนายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม กล่าวต้อนรับ และ นายปรัชญา ตะภา ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม กล่าวรายงานโครงการ และมี ดร.ศุภชัย ศรีหล้า ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายณรงค์ชัย เจริญรุจิทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือ และผู้บริหารวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี จำนวน 47 แห่งจากทั่วประเทศ เข้าร่วมงาน ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า โครงการ MCAT FARM และ K FARM Koffee ของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม เป็นการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ด้วยห้องเรียนมีชีวิต พัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะและคุณลักษณะพื้นฐานที่จำเป็นและสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีต่อการเปลี่ยนแปลงให้กับผู้เรียนอาชีวศึกษาเกษตรได้มีอาชีพ มีรายได้และมีทักษะในการจัดการพื้นที่ทางการเกษตร สามารถสร้างโอกาสให้ผู้เรียนอาชีวศึกษาเกษตร เป็นแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตรที่สำคัญสำหรับประชาชนในเขตจังหวัดมหาสารคามและพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งยังเป็นแหล่งจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่เป็นต้นแบบในการจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิพอเพียงสู่การปฏิบัติ โดยความร่วมมือเพื่อพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับนักเรียนนักศึกษาระหว่างสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กับ บริษัท เค ฟาร์ม คอฟฟี่ จำกัด ที่ร่วมขับเคลื่อนและพัฒนาการจัดการเรียนรู้ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและให้ผู้เรียนเกิดทักษะและเสริมสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพต่อไป

ด้าน นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า ในนามชาวมหาสารคาม มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสต้อนรับ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติทุกท่านที่มาเยือนจังหวัดมหาสารคามในวันนี้จังหวัดมหาสารคาม เป็นศูนย์กลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือที่เรียกว่า สะดืออีสาน แบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๑๓ อำเภอ ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตร โครงการ MCAT FARM และ K FARM Koffee จึงนับว่าเป็นการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตรที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของชาวมหาสารคาม ในการส่งเสริมกระบวนการผลิตสินค้าทางการเกษตรที่มีคุณภาพและพัฒนาสู่เกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งประเด็นของการพัฒนาจังหวัด คือ ส่งเสริมการพัฒนาระบบการผลิต การแปรรูปผลผลิต และการตลาดสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพ

 

ด้านนายปรัชญา ตะภา ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม กล่าวว่า สืบเนื่องจาก บันทึกความร่วมมือ ระหว่าง สถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กับ บริษัท เค ฟาร์ม คอฟ จำกัด เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้นักเรียนนักศึกษาและจัดการเรียนการสอน พัฒนาศักยภาพ คุณภาพและยกระดับผู้เรียนอาชีวศึกษาเกษตรให้มีอาชีพที่มั่นคง สร้างผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ในการประกอบธุรกิจกาแฟ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม ซึ่งเป็นสถานศึกษาสังกัดอาชีวศึกษาเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ทั้งสิ้น ๘๕๔ ไร่ ตั้งอยู่ห่างจากจังหวัดมหาสารคาม ระยะทาง ๑๓ กิโลเมตร ส่วนพื้นที่ด้านหน้าของวิทยาลัยอยู่ติดกับถนนสายหลัก วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคามจึงได้จัดสรรพื้นที่บริเวณด้านหน้าของวิทยาลัย ฯ จำนวน ๑๖ ไร่ เพื่อเป็นพื้นที่ในการดำเนินโครงการ MCAT FARM และ K FARM Koffee โดยแบ่งเป็นพื้นที่ในการจัดจำหน่ายสินค้าทางการเกษตร ร้าน K FARM Koffee และแปลงสาธิตทางการเกษตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติตามศาสตร์พระราชา ส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ความสามารถในทางปฏิบัติและสมรรถนะในการประกอบอาชีพ ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพในการจัดการเรียนการสอนและการฝึกอบรม รวมทั้งพัฒนาสถานศึกษาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตร และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรของจังหวัดมหาสารคามอีกด้วย

แหล่งที่มา https://www.vec.go.th/ข่าว/ข่าวประชาสัมพันธ์/รายละเอียดข่าวประชาสัมพันธ์/tabid/6276/ArticleId/37386/language/th-TH/37386.asp

แผนเผชิญเหตุรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

แผนเผชิญเหตุรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

กรณีที่ 1 พบผู้เรียนติดเชื้อในสถานศึกษา ดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้

1. คัดกรอง วัดไข้ สังเกตอาการ ผู้เรียนทุกคนก่อนเข้าสถานศึกษา

2. เมื่อพบกลุ่มเสี่ยง แยกกลุ่มเสี่ยงจากกลุ่มผู้เรียน ผู้สอน

3. จัดให้มีการตรวจหาเชื้อเบื้องต้นโดยวิธีการที่เหมาะสม และมีการสุ่มตรวจเป็นระยะ ๆ หากการตรวจ
มีผลเป็นบวก ให้สถานศึกษาจัดให้ผู้เรียนได้ตรวจ Real-time PCR โดยร่วมมือจัดการผู้ติดเชื้อ ได้แก่ การเคลื่อนย้าย
ผู้ติดเชื้อตามมาตรฐานควบคุม และมาตรการของจังหวัด

4. สถานศึกษาประสานแจ้งผู้ปกครอง

5. หากตรวจ Real-time PCR แล้วได้ผลเป็นบวก กรณีที่ผู้เรียนไม่สามารถจัดหาสถานพยาบาลรักษาได้ให้สถานศึกษาประสานจัดหาให้ผู้เรียนได้เข้ารับการรักษา

6. ร่วมมือจัดการสอบสวนโรคและการจัดการกลุ่มสัมผัสในสถานศึกษา

1) ผู้สัมผัสกลุ่ม High risk ให้ดำเนินการตรวจหาเชื้อเบื้องต้นโดย Antigen Test Kit (ATK)

2) ผู้สัมผัสกลุ่ม Low risk ไม่ต้องเก็บตัวอย่าง แต่ให้แยกตัวอยู่ที่บ้าน และรายงานอาการ (Self-report) ทุกวัน หากพบว่ามีอาการเข้าเกณฑ์ PUL ให้ดำเนินการแบบผู้ป่วย PUL

7. สถานศึกษาปิดเพื่อทำความสะอาดเป็นระยะเวลา 3 วัน (ห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ โรงฝึกงาน อาคารเรียน โรงอาหาร โรงนอน พื้นที่ส่วนกลาง)

8. สถานศึกษาจัดให้ผู้เรียนที่ติดเชื้อได้เรียนโดยวิธีการที่เหมาะสม เช่น การเรียนแบบออนไลน์
(On-line) การเรียนรู้เพิ่มเติมตามความต้องการของผู้เรียน การศึกษาจากแบบเรียน ใบความรู้ หรือการทำ
ใบกิจกรรม ใบงาน และการบ้านที่ครูมอบหมายให้ผู้เรียนเข้าถึงการเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยครูที่ปรึกษาเป็นผู้ประสาน ติดตาม และรายงานการเรียนให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาทราบ

9. หากผู้เรียนหายจากการติดเชื้อ ให้มีการกักตัวอีก 14 วัน ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข
โดยสถานศึกษาประสานติดตามผู้เรียนตลอดช่วงเวลาการกักตัว หากครบตามระยะเวลาที่กำหนดไม่พบมีการ
ติดเชื้อให้ผู้เรียนกลับเข้าเรียนในสถานศึกษาตามปกติ

10. การประเมินความเสี่ยง (TST) จำแนกตามเขตพื้นที่แพร่ระบาด

(1) 1 วัน ต่อสัปดาห์ พื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) และพื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง)

(2) 2 วัน ต่อสัปดาห์ พื้นที่ควบคุม (สีส้ม)

(3) 3 วัน ต่อสัปดาห์ พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง)

(4) ทุกวัน พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม)

กรณีที่ 2 พบผู้เรียนติดเชื้อเมื่อการฝึกอาชีพ/การฝึกประสบการณ์สมรถนะวิชาชีพในสถานประกอบการ ดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้

1. สถานประกอบการคัดกรอง วัดไข้ สังเกตอาการ ทุกคนก่อนเข้าสถานประกอบการ

2. เมื่อพบกลุ่มเสี่ยง แยกกลุ่มเสี่ยงจากกลุ่มผู้ร่วมฝึกอาชีพ

3. สถานประกอบการประสานแจ้งสถานศึกษา สถานศึกษาดำเนินการแจ้งผู้ปกครอง

4. สถานศึกษาจัดให้มีการตรวจหาเชื้อเบื้องต้นโดยวิธีการที่เหมาะสม และมีการสุ่มตรวจเป็นระยะ ๆ หากการตรวจมีผลเป็นบวกให้สถานศึกษาจัดหาให้ผู้เรียนได้ตรวจ Real-time PCR โดยร่วมมือจัดการผู้ติดเชื้อ ได้แก่ การเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อตามมาตรฐานควบคุม และมาตรการจังหวัด

5. หากตรวจ Real-time PCR แล้วได้ผลเป็นบวก กรณีที่ผู้เรียนไม่สามารถจัดหาสถานพยาบาลรักษาได้ให้สถานศึกษาประสานจัดหาให้ผู้เรียนได้เข้ารับการรักษา

6. หากผู้เรียนหรือผู้ปกครอง มีความประสงค์กลับไปรักษาที่ภูมิลำเนา ให้ดำเนินการกักตัวตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข

7. ร่วมมือจัดการสอบสวนโรคและการจัดการกลุ่มสัมผัสในสถานประกอบการ

1) ผู้สัมผัสกลุ่ม High risk ให้ดำเนินการตรวจหาเชื้อเบื้องต้นโดย Antigen Test Kit (ATK)

2) ผู้สัมผัสกลุ่ม Low risk ไม่ต้องเก็บตัวอย่าง แต่ให้แยกตัวอยู่ที่บ้าน และรายงานอาการ (Self-report)
ทุกวัน หากพบว่ามีอาการเข้าเกณฑ์ PUL ให้ดำเนินการแบบผู้ป่วย PUL

8. วางแผนการจัดการฝึกประสบการณ์สมรรถนะวิชาชีพร่วมกับสถานประกอบการ โดยสถานศึกษาและสถานประกอบการจัดให้ผู้เรียนที่ติดเชื้อได้เรียนโดยวิธีการที่เหมาะสม เช่น ใบความรู้ การทำใบกิจกรรม ใบงาน ตามที่สถานประกอบการมอบหมายให้ผู้เรียนเข้าถึงการฝึกอาชีพ/การฝึกประสบการณ์สมรถนะวิชาชีพอย่างมีประสิทธิภาพ โดยครูที่ปรึกษาเป็นผู้ประสาน ติดตาม และรายงานการเรียนให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาและ
สถานประกอบการทราบ

9. หากผู้เรียนหายจากการติดเชื้อ ให้มีการกักตัวอีก 14 วัน ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข
โดยสถานศึกษาประสานติดตามผู้เรียนตลอดช่วงเวลาการกักตัว หากครบตามระยะเวลาที่กำหนดไม่พบมีการ
ติดเชื้อให้ผู้เรียนกลับเข้ารับการฝึกอาชีพ/การฝึกประสบการณ์สมรถนะวิชาชีพ ในสถานประกอบการตามปกติหรือสถานศึกษามอบหมายงานในลักษณะชิ้นงาน/โครงงาน แทนการฝึกอาชีพ/การฝึกประสบการณ์สมรถนะวิชาชีพในสถานประกอบการ ที่เหมาะสมให้แก้ผู้เรียน

 

กรณีที่ 3 พบผู้เรียนติดเชื้อในที่พักอาศัย ดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้

1. ผู้เรียนดำเนินการแจ้งสถานศึกษาทราบ

2. ผู้เรียนดำเนินการตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข

3. ครูประจำชั้นช่วยประสานสถานพยาบาลเข้ารับการรักษากรณีผู้เรียนไม่สามารถประสานหาสถานพยาบาลเข้ารับการรักษาได้ และติดตาม สอบถามผลการรักษาของผู้เรียนตลอดการรักษาโรค

4. สถานศึกษาตรวจสอบ Time Line การมาเรียนของผู้เรียน เพื่อคัดกรองผู้มีความเสี่ยง

5. ร่วมมือจัดการสอบสวนโรคและการจัดการกลุ่มสัมผัสในสถานศึกษา

1) ผู้สัมผัสกลุ่ม High risk ให้ดำเนินการตรวจหาเชื้อเบื้องต้นโดย Antigen Test Kit (ATK)

2) ผู้สัมผัสกลุ่ม Low risk ไม่ต้องเก็บตัวอย่าง แต่ให้แยกตัวอยู่ที่บ้าน และรายงานอาการ (Self-report) ทุกวัน หากพบว่ามีอาการเข้าเกณฑ์ PUL ให้ดำเนินการแบบผู้ป่วย PUL

5. สถานศึกษาปิดเพื่อทำความสะอาดเป็นระยะเวลา 3 วัน (ห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ โรงฝึกงาน อาคารเรียน โรงอาหาร โรงนอน พื้นที่ส่วนกลาง) และลดความแออัด เมื่อพบว่าผู้เรียนเข้ามาในพื้นที่สถานศึกษา

7. สถานศึกษาจัดให้ผู้เรียนที่ติดเชื้อได้เรียนโดยวิธีการที่เหมาะสม เช่น การเรียนแบบออนไลน์
(On-line) การเรียนรู้เพิ่มเติมตามความต้องการของผู้เรียน การศึกษาจากแบบเรียน ใบความรู้ หรือการทำ
ใบกิจกรรม ใบงาน และการบ้านที่ครูมอบหมายให้ผู้เรียนเข้าถึงการเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยครูที่ปรึกษาเป็นผู้ประสาน ติดตาม และรายงานการเรียนให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาทราบ

8. หากผู้เรียนหายจากการติดเชื้อ ให้มีการกักตัวอีก 14 วัน ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข

โดยสถานศึกษาประสานติดตามผู้เรียนตลอดช่วงเวลาการกักตัว หากครบตามระยะเวลาที่กำหนดไม่พบมีการติดเชื้อให้ผู้เรียนกลับเข้าเรียนในสถานศึกษาตามปกติ

 

กรณีที่ 4 ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ประกาศห้ามการใช้อาคารหรือสถานที่ของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภทเพื่อจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการกิจกรรมใด ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากทำให้เสี่ยงต่อการแพร่โรค เว้นแต่การใช้เป็นที่เอกเทศตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้

1. สถานศึกษาเตรียมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสม ดังนี้

1) การเรียนแบบออนไลน์ (On-line) เรียนผ่านช่องทางการสอนออนไลน์/สื่อออนไลน์ ทีวีดิจิทัล Video Conference หรือ Platform ต่าง ๆ เช่น Platform DEEP , Zoom , Microsoft Team , Google Meet เป็นต้น โดยสถานศึกษาดำเนินการจัดการเรียนการสอนเอง

2) การเรียนรู้เพิ่มเติมตามความต้องการของผู้เรียน ผู้เรียนสามารถเรียนที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้
ตามที่ต้องการ ในการเลือกหัวข้อ และระยะเวลาได้ด้วยตนเองแบบเฉพาะเจาะจงได้ผ่าน R-Radio Channel หรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ของสถานศึกษา

3) การเรียนรูปแบบอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับผู้เรียน

สถานศึกษาสามารถออกแบบวิธีการจัดการเรียนรู้ได้ตามความเหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษา โดยการเรียนรู้แบบผสมผสาน ซึ่งรูปแบบการจัดการเรียนการสอนดังกล่าวต้องสอดคล้องตามแนวทางการจัดการเรียนการสอน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเช่น การจัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ การศึกษาจากแบบเรียน ใบความรู้ หรือการทำใบกิจกรรม ใบงาน และ การบ้านที่ครูมอบหมาย

แหล่งที่มา https://www.vec.go.th/ข่าว/ข่าวประชาสัมพันธ์/รายละเอียดข่าวประชาสัมพันธ์/tabid/6276/ArticleId/37351/language/th-TH/-2019-COVID-19-160-160.aspx

เลขาธิการ กอศ.ลงพื้นตรวจเยี่ยมสถานศึกษา สังกัด สอศ.ในจังหวัดขอนแก่นและนครราชสีมา ที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม

เลขาธิการ กอศ.ลงพื้นตรวจเยี่ยมสถานศึกษา สังกัด สอศ.ในจังหวัดขอนแก่นและนครราชสีมา ที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม

ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและสำรวจสภาพความเสียหาย วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น จ.ขอนแก่น ที่ประสบภัยน้ำท่วมซึ่งได้รับผลกระทบในบริเวณท่วมบ้านพัก อาคารปฏิบัติการประมง โรงสูบน้ำ ในโอกาสนี้ ได้เยี่ยมชม งานฟาร์มเกษตร โดยมีนายสมมาตร เอียดฉิม ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น และครู นำสำรวจในพื้นที่ ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น

เลขาธิการได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจ พร้อมรับฟังแนวทางแก้ปัญหา สถานการณ์น้ำท่วม ณ วิทยาลัยสารพัดช่างนครราชสีมา จ.นครราชสีมา โดยมี นายสุดชาย บุตรแสนลี ผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างนครราชสีมา เป็นผู้นำเสนอและรายงานความเสียหาย จากสถานการณ์น้ำท่วม จ.นครราชสีมา ซึ่งที่ผ่านมาทางวิทยาลัยสารพัดช่างนครราชสีมา เกิดน้ำท่วมขัง เกิดพายุฝนตกอย่างหนักในระหว่างวันที่ 18-24 ตุลาคม ที่ผ่านมา ทำให้ได้รับความเสียหายในวงกว้าง ทั้งนี้จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้อาคารเรียน ห้องเรียน และครุภัณฑ์ทางการศึกษาที่ไม่สามารถย้ายได้ทันเกิดความเสียหายบางส่วน โดยทางคณะผู้บริหารครู บุคลากรทางการศึกษาเจ้าหน้าที่ พร้อมภาคีเครือข่าย ได้รวมพลังสามัคคีในการป้องกันและแก้ปัญหาอย่างเต็มที่

นายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมศูนย์ให้บริการผู้ประสบภัยน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานี รวมพลัง อาชีวะฯ เมืองดอกบัว

นายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมศูนย์ให้บริการผู้ประสบภัยน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานี รวมพลัง อาชีวะฯ เมืองดอกบัว

นายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมศูนย์ให้บริการผู้ประสบภัยน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานี รวมพลัง อาชีวะฯ เมืองดอกบัว

วันนี้ (15 ต.ค.64) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และคณะผู้บริหารระดับสูงสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เยี่ยมให้กำลังใจ มอบกล่องธารน้ำใจ และมอบความห่วงใย ให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วม ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และคณะผู้บริหารจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา อาชีวศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี และอาชีวศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ให้การต้อนรับ ณ ศาลาประชาวาริน อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชม นักเรียนนักศึกษาอาชีวะ ในการช่วยเหลือประชาชนในยามเกิดภัยพิบัติ

ในโอกาสนี้ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากสถานการณอุทกภัยในพื้นที่ จัหวัดต่างๆ กระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้นำทีมศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชุน (Fix it center) จัดตั้งจุดบริการเพื่อบรรเทาภัย และช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประสบภัย โดยขอให้เตรียมพร้อม และจัดทำแผนการให้ความช่วยเหลือประชาชนทุกพื้นที่ หากเกิดภัยพิบัติในที่ต่างๆ โดยมองว่านักเรียน นักศึกษา จะได้ใช้ช่วงวิกฤต สร้างโอกาส และประสบการณ์ในการเรียนรู้จากสถานการณ์จริง ซึ่งจะเป็นการส่งเสริม พัฒนาให้นักเรียน นักศึกษา ได้นำความรู้ ความสามารถ ทักษะในวิชาชีพสาขาวิชาต่าง ๆ มาใช้ มีจิตอาสา และเสริมทักษะชีวิต และการช่วยเหลือประโยชน์ต่อสังคม อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ แพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ศูนย์ให้บริการ fix it Center จะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุด ตามมาตรการของสาธารณสุข อย่างเคร่งครัด ควบคู่ไปด้วยกัน

ด้านดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยให้บริการซ่อมแซมเครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือนและอุปกรณ์อื่นๆ สำหรับการประกอบอาชีพที่ชำรุดเสียหายจากภัยน้ำท่วม นอกจากนี้ยังจัดทำอาหารกล่อง จำนวน 250 กล่อง พร้อมน้ำดื่ม จำนวน 600 ขวด แจกจ่ายให้กับประชาชนที่ประสบภัยในครั้งนี้ด้วย