รมว.ศธ. ห่วงสถานศึกษา ประชาชนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมมอบอาชีวะนำทีม Fix it จิตอาสาช่วยชุมชน

รมว.ศธ. ห่วงสถานศึกษา ประชาชนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมมอบอาชีวะนำทีม Fix it จิตอาสาช่วยชุมชน

​นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แสดงความเป็นห่วงสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัด จากผลของพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” ซึ่งทำให้เกิดอุทกภัยใน 26 จังหวัด รวม 84 อำเภอ 219 ตำบล 908 หมู่บ้าน 5 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 18,753 ครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 14 จังหวัด ยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ 12 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร ชัยภูมิ นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา สุโขทัย ชัยนาท นครสวรรค์ สิงห์บุรี ขอนแก่น ลำปาง ลำพูน และอุบลราชธานี นั้น


​นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า ตนได้มอบหมายให้ต้นสังกัดของสถานศึกษาทั่วประเทศวางแผนป้องกันภัยจากน้ำท่วม เฝ้าระวัง เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และหากเกิดอุทกภัยขึ้นแล้วให้สถานศึกษาได้รายงานความเสียหายมายังต้นสังกัด เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหา ซ่อมแซมอาคารสถานที่ อุปกรณ์ต่างๆ และช่วยเหลือสถานศึกษาต่อไป และหลังจากน้ำลดแล้วตนจะมอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ดำเนินโครงการศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน หรือ Fix it Center ลงพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย เพื่อช่วยเหลือสถานศึกษา และประชาชนผู้ประสบอุทกภัยหลังภาวะน้ำลด ทั้งนี้ ที่ผ่านมาศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน ซึ่งนักเรียน นักศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ในสาขาวิชาต่างๆ จากสถานศึกษาในสังกัด สอศ.ได้นำวิชาความรู้ความสามารถทางวิชาชีพออกให้บริการและประชาชน ชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการดำเนินการต่าง ๆ สถานศึกษาจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของนักเรียน นักศึกษา ครู เป็นสำคัญและต้องคำนึงถึงความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ยังมีการแพร่ระบาดอยู่อย่างต่อเนื่องในขณะนี้ด้วย และทั้งนี้ตนจะลงพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือสถานศึกษาที่ประสบอุทกภัยต่อไปด้วย


​ด้านนายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีความเป็นห่วงต่อสถานศึกษา นักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากอุทกภัย นั้น โดยขณะนี้ สอศ. ได้ขอให้สถานศึกษาทุกแห่งที่ประสบภัย ได้สำรวจความเสียหายและรายงานแจ้งให้ สอศ. พร้อมทั้งให้สถานศึกษาในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงที่ไม่ได้รับผลกระทบ ได้จัดเตรียมความพร้อมศูนย์ Fix it Center จิตอาสา ได้วางแผนเตรียมให้ความช่วยเหลือไว้ 2 กรอบ ได้แก่ กรอบที่ 1ในสถานการณ์เผชิญเหตุอุทกภัย โดยศูนย์ Fix it Center จิตอาสา จะให้บริการด้านการขนย้ายสิ่งของ การตัดกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ที่น้ำยังไม่ท่วมถึง และการจัดเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น อาหารกล่องน้ำดื่มเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน โดยในกรอบที่ 2 ศูนย์ Fix it Center จิตอาสาจะดำเนินการให้บริการ ซ่อมเครื่องใช้อุปกรณ์สิ่งของภายในบ้าน ซ่อมรถจักรยานยนต์ รถยนต์ เครื่องจักรกล เครื่องมือเครื่องใช้ อุปกรณ์ทางการเกษตร ฯลฯ

 

แหล่งที่มา https://www.vec.go.th/ข่าว/ข่าวประชาสัมพันธ์/รายละเอียดข่าวประชาสัมพันธ์/tabid/6276/ArticleId/35258/language/th-TH/35258.aspx

สอศ. รับปรับหลักสูตรอาชีวะให้ทันการเปลี่ยนแปลงกับโลกอาชีพ​

สอศ. รับปรับหลักสูตรอาชีวะให้ทันการเปลี่ยนแปลงกับโลกอาชีพ

ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า จากนโยบาย นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ทบทวนปรับปรุงหลักสูตร และการจัดการเรียนการสอนในระดับอาชีวศึกษาให้มีความทันสมัย รับการเปลี่ยนแปลงกับโลกอาชีพ ซึ่งตั้งเป้าเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2565 โดยขณะนี้ สอศ. ได้วางแนวทางการพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้อาชีวศึกษาแนวใหม่ เพื่อให้สอดคล้องและสามารถดำเนินการได้ในช่วงระยะเวลาที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ยังมีการแพร่ระบาด

 

เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า สำหรับการแนวทางการปรับและพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้อาชีวศึกษาแนวใหม่ ซึ่งจะนำไปใช้ทั้งในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และใช้ในการจัดการศึกษา ทั้งในระบบ นอกระบบ และระบบทวิภาคี สอศ.จะดำเนินการในส่วนของการปรับหลักสูตร ให้มีความยืดหยุ่น และเชื่อมโยงการสำเร็จการศึกษา และการมีงานทำ โดยการปรับลดรายวิชาสามัญ เพิ่มรายวิชาชีพที่สร้างสมรรถนะให้แก่ผู้เรียน และบูรณาการวิชาสามัญและวิชาชีพในชุดวิชาเดียวกัน ที่เรียกว่าการจัดหลักสูตรแบบโมดูล (Modular System) เพื่อส่งเสริมผู้เรียนในด้านสมรรถนะของงานอาชีพ และจัดการเรียนรู้ แบบสะสมหน่วยการเรียนรู้ หรือเรียกว่าธนาคารหน่วยกิต หรือเครดิตแบงก์ (Credit Bank) ที่จะเป็นการเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ โดยกำหนดรูปแบบการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นตามความต้องการของผู้เรียน สามารถสะสมผลการเรียนรู้ในแต่ละวิชา แต่ละทักษะ องค์ความรู้ที่ต้องการ และนำมาสะสมไว้เพื่อการศึกษาต่อในระดับต่าง ๆ

 

 

พร้อมทั้งส่งเสริมจัดการเรียนรู้แบบต่อเนื่อง Block course และพัฒนาหลักสูตรเพื่อรองรับให้กับกลุ่มผู้ที่สำเร็จการศึกษาและยังไม่มีงานทำ กลุ่มผู้เรียนที่ตกหล่นจากระบบการศึกษา และคนวัยทำงาน หรือผู้ที่ต้องการ Up-Skill, Re-Skill รวมถึงการเรียนรู้ในห้องเรียน และการเรียนรู้แบบออนไลน์ เพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ ให้สอดคล้องกับสถานะการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว มีความซับซ้อน โดยการเพิ่มทักษะใหม่ที่จำเป็น และการทบทวนทักษะความชำนาญ ให้มีมิติในห่วงโซ่คุณค่าของสาขาอาชีพ ทั้งด้านตำแหน่งงาน งานวิกฤติ สมรรถนะกำลังคนและความสามารถทางด้านเทคโนโลยี ฯลฯ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

 

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้เร่งดำเนินการจัดทำร่างและแนวทางการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรเพื่อนำเสนอให้กับคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผ่านคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 4 คณะได้แก่คณะอนุกรรมการฯ ด้านหลักสูตรอาชีวศึกษาและมาตรฐานคุณภาพการจัดการอาชีวศึกษา ด้านการกำหนดนโยบายเป้าหมายการผลิต และพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา และกฎหมาย ด้านความร่วมมือในการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา และด้านการติดตามและประเมินผลการอาชีวศึกษาและการมีงานทำ รวมถึงคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (อ.กรอ อศ.) พร้อมทั้งการดำเนินการ ในส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2551 รวมทั้งกฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศหลักเกณฑ์ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการอาชีวศึกษา เพื่อให้สามารถดำเนินการประกาศใช้หลักสูตร และรูปแบบการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาแนวใหม่ในปีการศึกษา 2565 ต่อไป

แหล่งที่มา https://www.vec.go.th/ข่าว/ข่าวประชาสัมพันธ์/รายละเอียดข่าวประชาสัมพันธ์/tabid/6276/ArticleId/35304/language/th-TH/35304.aspx

“ตรีนุช”เร่งเครื่องยกระดับอาชีวะเอกชน

“ตรีนุช”เร่งเครื่องยกระดับอาชีวะเอกชน

“สุเทพ” ขานรับนโยบาย “ตรีนุช” เดินหน้ายกระดับการอาชีวศึกษาเอกชน เตรียมลงพื้นที่เฟ้นจังหวัดต้นแบบ พัฒนาครบวงจรทั้งจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี-อบรมพัฒนาครูอาชีวะเอกชน-นำนักเรียนนักศึกษาร่วม Fix it Center

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า ตามที่ตนมีนโยบายการศึกษาเพื่ออาขีพ และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อให้ผู้จบการศึกษา ระดับปริญญาและอาชีวศึกษามีอาชีพและรายได้ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพและคุณภาพชีวิตที่ดี มีส่วนช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกได้ ซึ่งเรื่องหนึ่งในการเดินหน้าสู่เป้าหมายดังกล่าว คือ การยกระดับคุณภาพสถานศึกษาอาชีวศึกษา ทั้งของรัฐและเอกชน ซึ่งจากการที่ตนได้ลงพื้นที่พบกับผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชน ก็ได้รับทราบถึงเรื่องที่เป็นความต้องการของอาชีวศึกษาเอกชน ในการที่จะเร่งปรับปรุงพัฒนาการอาชีวศึกษาเอกชนในด้านต่างๆ โดยมี 3 เรื่องใหญ่ คือ 1.การส่งเสริมสนับสนุนอาชีวศึกษาเอกชนให้สามารถจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทั่วถึงครอบคลุมทุกวิทยาลัย 2. การพัฒนาครูอาชีวศึกษาเอกชน ที่จะต้องมีการสนับสนุนทั้งด้านการฝึกอบรมและการนิเทศ และ 3.การจัดให้นักศึกษาอาชีวศึกษาเอกชนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติในสถานการณ์จริง ในพื้นที่จริง โดยการร่วมกิจกรรมศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน หรือ Fix it Center และการฝึกอบรมอาชีพให้แก่ประชาชน ซึ่งหลังจากที่ตนได้รับทราบความต้องการของอาชีวศึกษาเอกชนแล้ว ก็ได้มอบหมายนให้ ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เร่งวางแนวทางยกระดับคุณภาพอาชีวศึกษาเอกชนและดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

ด้าน ดร.สุเทพ กล่าวว่า หลังจากรับนโยบายของ รมว.ศธ.ตนได้มอบหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านการอาชีวศึกษาเอกชน การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ด้านงานวิชากการ การทิเทศ และด้านความร่วมมือได้หารือร่วมกัน เช่น เรื่องการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ที่เป็นการจัดการศึกษาวิชาชีพที่เกิดจากข้อตกลงระหว่างสถานศึกษาอาชีวศึกษา กับ สถานประกอบการ รัฐวิสาหกิจ หรือ หน่วยงานของรัฐ ในเรื่องการจัดหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การจัดการฝึกอาชีพ การวัดและประเมินผล โดยผู้เรียนใช้เวลาส่วนหนึ่งในสถานศึกษาอาชีวศึกษา และเรียนภาคปฏิบัติในสถานประกอบการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเดิมอาชีวศึกษาเอกชนอาจจะติดปัญหาในหลักเกณฑ์บางประการก็จะปรับปรุงให้คล่องตัวมากขึ้น นอกจากนี้จะเลือกบางจังหวัดเป็นพื้นที่ต้นแบบ ที่จะเร่งดำเนินการทุกเรื่องที่เป็นความต้องการของอาชีวศึกษาเอกชนอย่างครบวงจร ทั้งเรื่องอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี การพัฒนาครู การพัฒนากิจกรรมองค์การวิชาชีพในวิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชน การวางแผนการรับนักศึกษาร่วมกัน การแชร์ทรัพยากรเพื่อการเรียนการสอนร่วมกันระหว่างวิทยาลัยอาชีวะของรัฐกับเอกชน และและนำนักศึกษาปฏิบัติงานในพื้นที่จริง โดยภายในเดือนตุลาคมนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะส่งคณะทำงานจากส่วนกลางลงพื้นที่เป้าหมาย เพื่อวางแผนในการดำเนินการ โดยกำหนดให้ได้แนวทางและลงมือปฏิบัติตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 และให้เห็นผลภายในเดือนเมษายน 2565

แหล่งที่มา https://www.vec.go.th/ข่าว/ข่าวประชาสัมพันธ์/รายละเอียดข่าวประชาสัมพันธ์/tabid/6276/ArticleId/37276/language/th-TH/.aspx